วันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ จ.เชียงใหม่

อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อำเภอสันกำแพง อำเภอดอยสะเก็ด กิ่งอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ และท้องที่อำเภอบ้านธิ อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นพื้นที่ต้นน้ำของลุ่มน้ำปิง มีพันธุ์ไม้มีค่าและสัตว์ป่าที่สำคัญหลายชนิดและประกอบ ด้วยจุดเด่นทางธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่งเช่น น้ำตก อ่างเก็บน้ำ เขื่อน หน้าผา และยอดเขาที่สูงเด่น เป็นต้น มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 320,750 ไร่ หรือ 513.20 ตารางกิโลเมตรเมื่อปี พ.ศ. 2525 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรบ้านแม่ตะไคร้ ได้ทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ การปฏิบัติตามหลักธรรมในพระพุทธศาสนาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ยึดถือ ปฏิบัติกันต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษ โดยเฉพาะการประกอบอาชีพเป็นไปด้วยความยากลำบาก ราษฎรมีความเป็นอยู่แร้นแค้น พระองค์จึงทรงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการเพื่อพัฒนาอาชีพและส่งเสริมคุณธรรม เพื่อให้ราษฎรมีอาชีพที่มั่นคงถาวร พอกินพอใช้ตามอัตภาพ และให้ยึดถือหลักธรรมในพระพุทธศาสนา เป็นแนวทางในการประกอบอาชีพการครองเรือน เพื่อให้เป็นตัวอย่างแก่ราษฎรในท้องถิ่นที่ใกล้เคียงต่อมาทรงมีรับสั่งและมีหนังสือจากสำนักราชเลขาธิการ ให้กรมป่าไม้ โดยกองอุทยานแห่งชาติดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยาน เพื่อให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ ศึกษาค้นคว้าตามธรรมชาติ การอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารและสัตว์ป่า โดยให้ดำเนินการสนองพระราชดำริในการปรับปรุงพื้นที่เป็นที่อยู่ธุดงค์สถาน ของพระภิกษุสามเณร และเป็นที่ปฏิบัติธรรมของประชาชนทั่วไป ให้ชื่อโครงการว่า “โครงการพัฒนาชนบทยากจนตามพระราชดำริ” การดำเนินการตามแผนงานโครงการเบื้องต้น ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเลขานุการ กปร. จึงนับได้ว่าเป็นวนอุทยานที่มีพระราชดำริให้จัดตั้งขึ้นต่อมาในปี 2530 วนอุทยานแม่ตะไคร้ ได้ส่งข้อมูลการสำรวจเบื้องต้น เพื่อยกฐานะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ จึงได้มีคำสั่งให้ นายโกศล สงศิริ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ 3 ไปทำหน้าที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ และในปี 2531 อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ได้รายงานเพิ่มเติมว่า พื้นที่ของวนอุทยานที่ดำเนินการอยู่แล้ว และพื้นที่ป่าผนวกเข้าเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ บริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าขุนแม่ทา ป่าแม่ออน อำเภอสันกำแพง และป่าขุนแม่กวง อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เป็นป่าต้นน้ำลำธาร เป็นพื้นที่ป่าประกอบด้วยสภาพป่าที่สมบูรณ์ และมีอิทธิพลต่อพื้นที่ลุ่มน้ำที่ใช้ในการเกษตรกรรมของราษฎรเป็นอย่างยิ่ง ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่สำคัญนานาชนิด สัตว์ป่าชนิดต่างๆ ตลอดจนจุดเด่นทางธรรมชาติและแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญหลายแห่ง เหมาะสมที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ได้เสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติขณะนี้สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กำลังดำเนินการประกาศพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณดังกล่าวเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ

ดอยลังกา มีความสูง 2,031 เมตรจากระดับน้ำทะเล สูงเป็นลำดับที่ 5 ของประเทศไทย อากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี มีทุ่งหญ้าปกคลุมยอดเขาเป็นบริเวณกว้าง ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ดอกหอมชูจะบานสะพรั่งทุ่งหญ้า เดือนเมษายน-พฤษภาคม ดอกกุหลาบพันปีจะบานชูช่อสวยงาม ต้องเดินทางเท้าเข้าไป 12 กิโลเมตร อาศัยความอดทนและระมัดระวังตลอดเส้นทางอย่างมาก ทั้งนี้ต้องนอนค้างคืน 1 คืนด้วย

จุดชุมทิวทัศน์ กม.6 อยู่ระหว่างเส้นทางสายแม่ตะไคร้-ห้วยแก้ว จุดที่ 1 ประมาณกิโลเมตรที่ 6 สามารถชมทิวทัศน์ของเทือกเขาที่กั้นระหว่างจังหวัดเชียงใหม่กับจังหวัดลำปาง จุดที่ 2 อยู่ห่างจากจุดที่ 1 ประมาณ 600 เมตร สามารถชมทิวทัศน์ภูเขาเป็นแนวยาว และตัวเมืองเชียงใหม่

น้ำตกแม่ตะไคร้ เป็นน้ำตกชั้นเดียวมีความสวยงามแปลกตา การเดินทางเข้าไปชมน้ำตกจะพบกับพันธุ์ไม้ป่ามากมาย เช่น เห็ดป่าสีสันสวยงาม มะม่วงป่า มะไฟป่า รวมถึงดอกไม้ป่าที่สวยงามและมีกลิ่นหอมชวนหลงใหล อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 6 กิโลเมตร

น้ำตกตาดเหมย เป็นน้ำตกที่มีความสวยงามที่สุดของอุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ สูงประมาณ 15 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 16 กิโลเมตร ระหว่างทางมีจุดชมทิวทัศน์ซึ่งสามารถมองเห็นทิวเขาในกิ่งอำเภอแม่ออนและ อำเภอสันทราย ในช่วงฤดูร้อนที่ฟ้าใสจะมองเห็นไกลไปถึงตัวเมืองลำพูน เชียงใหม่ และดอยสุเทพ เมื่อเดินทางถึงด่านตรวจที่ 3 ต้องเดินเข้าป่าผ่านป่าดิบแล้งซึ่งมีต้นไม้ให้ชมมากมาย เช่น ตะเคียน ยางนา ยางแดง ฯลฯ รวมระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร จะถึงน้ำตก

อ่างเก็บน้ำแม่ตะไคร้ เป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ เป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำจำนวนมาก มีความร่มรื่น ทิวทัศน์สวยงาม และมีเส้นาทงเดินศึกษาธรรมชาติรอบอ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้ ยังมีอ่างเก็บน้ำ และเขื่อนที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยผาแหน อ่างเก็นน้ำห้วยขมิ้น อ่างเก็บน้ำ ห้วยบง อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ตะไคร้ เขื่อนเก็บน้ำแม่กวง เขื่อนห้วยแม่ออน

ที่ตั้งและการเดินทาง
อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้
36 หมู่ 3 บ้านแม่หวาน ต.ป่าเมี่ยง อ. ดอยสเก็ด จ. เชียงใหม่ 50220
โทรศัพท์ : 053 818348, 081 840 0099รถยนต์ การเดินทางสู่อุทยานแห่งชาติแม่ตะไคร้ ใช้เส้นทางหลวงจังหวัดหมายเลข 118 จากจังหวัดเชียงใหม่ ผ่านอำเภอดอยสะเก็ดไปประมาณ 15 กิโลเมตร ที่ทำการอุทยานแห่งชาติจะตั้งอยู่ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 33-34

อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ - ปุย จ.เชียงใหม่

ดอยสุเทพไม่เพียงแต่เป็นที่ตั้งของวัดพระบรมธาตุดอยสุเทพ ปูชนียสถานคู่บ้านคู่เมืองเชียงใหม่ และพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ที่ประทับช่วงฤดูหนาวของพระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัว ทว่าดอยสูงแห่งนี้ยังสมบูรณ์ด้วย สภาพธรรมชาติทั้งพืชพรรณและสัตว์ป่า โดยเฉพาะนก ประกอบกับการเดินทางเข้าถึงสะดวก เพราะเชิงดอยอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่เพียง 6 กิโลเมตร และบนเส้นทางขึ้นสู่ยอดดอยประมาณ 16 กิโลเมตร ก็มีสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ให้เที่ยวชมได้ตลอดดอยสุเทพ เดิมชื่อว่า “ดอยอ้อยช้าง” สำหรับดอยสุเทพที่เรียกกันในปัจจุบันนี้เป็นชื่อที่ได้มาจาก “พระฤาษีวาสุเทพ” ซึ่งเคยบำเพ็ญตบะอยู่ที่เขาลูกนี้เมื่อพันกว่าปีมาแล้ว แต่เดิมก่อนที่ป่าดอยสุเทพจะได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ได้มีพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เป็นป่าหวงห้าม ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 66 ตอนที่ 28 ลงวันที่ 17 พฤษภาคม 2492 ต่อมาได้รับการประกาศ ให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 81 ตอนที่ 124 ลงวันที่ 31 ธันวาคม 2507 และได้มีมติคณะรัฐมนตรี ประกาศให้เป็นป่าสงวนแห่งชาติพิเศษ เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2510 ในขณะเดียวกันกองบำรุง กรมป่าไม้ ได้จัดตั้งสถานีวนกรรมภาคเหนือขึ้น ในพื้นที่บริเวณดอยสุเทพ เพื่อใช้เป็นสถานที่ทำการศึกษา ค้นคว้าและวิจัยเกี่ยวกับการปลูกป่าในที่สูง การปลูกป่าทดแทนพื้นที่ที่ถูกบุกรุก และการทดลองปลูกพืชพรรณไม้ต่างถิ่น เช่น สน ยูคาลิปตัส และไม้เมืองหนาวอีกหลายชนิด ซึ่งยังคงสภาพอยู่หลายแปลงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติในปัจจุบันในปี พ.ศ. 2516 ทางราชการได้กำหนดป่าดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ และป่าอื่นๆ ในท้องที่จังหวัดต่างๆ รวม 14 ป่า ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงส่ง นายปัญญา บุญสมบูรณ์ ออกไปดำเนินการสำรวจป่าดอยสุเทพ-ปุย หลังจากนั้นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจึงได้มีมติให้กำหนดพื้นที่ที่เป็นป่า ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ โดยกันพื้นที่ของราษฎรออกไป และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณที่ดินป่า ดอยสุเทพ ในท้องที่ตำบลโป่งแยง ตำบลแม่แรม ตำบลแม่สา ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม ตำบลบ้านปง ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง และตำบลช้างเผือก ตำบลสุเทพ ตำบลแม่เหียะ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 98 ตอนที่ 57 วันที่ 14 เมษายน 2524 ครอบคลุมพื้นที่ 100,662.50 ไร่ หรือ 161.06 ตารางกิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 24 ของประเทศต่อมาในเดือนกันยายน พ.ศ. 2525 ได้มีพระราชกฤษฎีกาขยายขอบเขตอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ครอบคลุมบริเวณน้ำตกแม่สา น้ำตกตาดหมอก-วังฮาง น้ำตกตาดหมอกฟ้า และพื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร โดยรอบของน้ำตกทั้งสามแห่งในพื้นที่ตำบลสบเปิง อำเภอแม่แตง และตำบลแม่แรม ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 62,500 ไร่ รวมเนื้อที่ทั้งสิ้น 163,162.50 ไร่ หรือประมาณ 261.06 ตารางกิโลเมตร โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 99 ตอนที่ 137 วันที่ 26 กันยายน 2525

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ

น้ำตกห้วยแก้ว เป็นน้ำตกเล็กๆ สูงประมาณ 10 เมตร เกิดจากลำน้ำห้วยแก้ว อยู่บริเวณเชิงดอยใกล้ทางขึ้นดอยสุเทพ เหนือน้ำตกห้วยแก้วขึ้นไปเล็กน้อย จะเป็น “วังบัวบาน” เป็นสถานที่ที่กล่าวถึงตำนานรักอันอมตะที่ลือชื่อของสาวเหนือ และผาเงิบ ซึ่งอยู่เหนือวังบัวบานประมาณ 100 เมตร ใช้เป็นสถานที่พักผ่อน บริเวณเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ เส้นทางน้ำตกห้วยแก้ว วังบัวบาน ผาเงิบ มีนกหลากชนิดที่น่าสนใจ ได้แก่ นกกระรางหัวหงอก นกแซงแซวหางปลา นกเขาเขียว และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นจุดชมนกที่น่าสนใจอีกแห่งในอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย

น้ำตกมณฑาธา น้ำตกมณฑาธารหรือน้ำตกสันป่ายาง เป็นน้ำตกที่สวยงามแห่งหนึ่งในเขตอุทยานฯ สูงกว่าระดับน้ำทะเล 730 เมตร มีทั้งหมด 9 ชั้น โดยมีน้ำตกไทรย้อย เป็นน้ำตกชั้นสูงสุด ที่ไหลมาจากห้วยคอกม้า แล้วไหลไปสมทบกับน้ำตกมณฑาธาร ผ่านผาเงิบ วังบัวบาน น้ำตกห้วยแก้ว ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำปิง ที่มาของน้ำตกนั้นมาจากต้นมณฑา ซึ่งเป็นไม้ยืนต้น ดอกสีขาว ใบใหญ่ สีเขียวจัด เห็นได้ทั่วไปตามข้างทาง ลักษณะของน้ำที่ตกลงมาแยกออกเป็น 2 สายเล็กๆ แล้วไหลลงสู่แอ่ง ก่อนจะผ่านลานหินลงไปชั้นที่ 1 อยู่ห่างจากน้ำตกห้วยแก้วประมาณ 3 กิโลเมตร บริเวณน้ำตกมณฑาธาร มีบ้านพักนักท่องเที่ยว จำนวน 2 หลัง พักได้หลังละ 6 คน ราคาหลังละ 1,500 บาท และมีสถานที่กางเต็นท์ ซึ่งสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ประมาณ 150 คน สามารถสำรองบ้านพักได้ที่ 053-210

น้ำตกแม่สา เป็นน้ำตกที่สวยงาม มีน้ำไหลตลอดปี มีทั้งหมด 10 ชั้นแต่ละชั้นห่างกันประมาณ 100-500 เมตร โดยเดินทางจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปตามถนนสายแม่ริม-สะเมิง ระยะทางประมาณ 7 กิโลเมตร น้ำตกแม่สา เป็นน้ำตกที่มีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ ที่ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ทั่วบริเวณ ทำให้สภาพอากาศร่มรื่นเย็นสบายตลอดปี ทำให้ได้รับความนิยมมาก

น้ำตกตาดหมอก เป็นน้ำตกขนาดกลาง เกิดจากลำห้วยแม่แรม อยู่ห่างจากตัวอำเภอแม่ริม ประมาณ 5 กิโลเมตร ตามเส้นทางสายแม่ริม-สะเมิง แล้วแยกไปอีกประมาณ 9 กิโลเมตร

น้ำตกหมอกฟ้า เป็นน้ำตกที่สวยงามอีกแห่งของอุทยานฯ มีน้ำไหลตลอดปี ตั้งอยู่ในเขต อ.แม่แตง โดยเดินทางไปตามเส้นทางสายเชียงใหม่-ฝาง (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107) ถึงทางแยกบ้านแม่มาลัย อ.แม่แตง เลี้ยวซ้ายตามถนนสายแม่มาลัย-ปาย (ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1095) รวมระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร ซึ่งการเดินทางไปน้ำตกหมอกฟ้า หากต้องการขึ้นรถโดยสารประจำทาง สามารถขึ้นได้ที่สถานีขนส่งจังหวัดเชียงใหม่ (อาเขต) เพื่อขึ้นรถสายเชียงใหม่ - ปาย แล้วลงรถตรงปากทางเข้าน้ำตกหมอกฟ้า แล้วต้องเดินเข้าไปอีกประมาณ 2 กิโลเมตร หรือหากนำรถไปเองก็สามารถนำไปได้ ยกเว้นรถบัส เนื่องจาก ระยะทางแคบและลาดชัน

ยอดดอยปุย ยอดดอยปุย สูง 1,658 เมตร จากระดับน้ำทะเล เป็นจุดสูงสุดของอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย มีอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี บนยอดดอยปกคลุมด้วยป่าสนเขาผืนใหญ่ และเป็นแหล่งดูนกที่น่าสนใจแห่งหนึ่ง ดอยสุเทพและดอยปุยเป็นถิ่นอาศัยของนกมากกว่า 300 ชนิด เช่น ไก่ฟ้าหลังขาว นกกางเขนน้ำหลังดำ นกศิวะปีกสีฟ้า ฯลฯ ในช่วงฤดูหนาวยังมีนกอพยพบินย้ายถิ่นเข้ามาอาศัยอีกเป็นจำนวนมาก หลายชนิดเป็นนกหายาก โดยเฉพาะนกเขน นกจับแมลงสีคราม นกเดินดงอกลาย นกปีกแพรสีม่วง ฯลฯ สำหรับจุดดูนกที่น่าสนใจจุดอื่นๆ เช่น บริเวณบ้านพักดอยสุเทพ ตามเส้นทางไปน้ำตกมณฑาธาร เส้นทางไปห้วยคอกม้า และบริเวณสันกู่

วัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ที่มีความสำคัญทางศาสนาและประวัติศาสตร์ของนครเชียงใหม่ ตั้งอยู่บนดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1927 มีบันไดนาคทอดยาวขึ้นไปสู่วัด 306 ขั้น ภายในวัดเป็นที่ประดิษฐานขององค์เจดีย์ทรงมอญ ที่ใต้ฐานพระเจดีย์มีพระบรมสารีริกธาตุของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบรรจุ อยู่ วัดพระธาตุดอยสุเทพมีชื่อเต็มว่า “วัดพระบรมธาตุดอยสุเทพวรวิหาร” ซึ่งจัดได้ว่าเป็นปูชนียสถาน ที่แสดงออกถึงศิลปกรรมล้านนาไทยที่สำคัญคู่เมืองเชียงใหม่

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งล้านนา ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกสร้างถนนขึ้นไปบนดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ.2477 พระครูบาศรีวิชัย ขณะที่จำพรรษาอยู่ที่วัดศรีโสดา เริ่มชักชวนประชาชนสร้างทาง จากเชิงดอยถึงวัดพระธาตุดอยสุเทพ รวมระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร โดยใช้เวลาสร้างประมาณ 6 เดือน ต่อมา ชาวเชียงใหม่จึงได้สร้าง อนุสาวรีย์พระครูบาศรีวิชัย ไว้เป็นอนุสรณ์สถานเพื่อสักการบูชาสืบไป
ที่ตั้งและการเดินทาง
อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย
ถนนห้วยแก้ว ต.สุเทพ อ. เมืองเชียงใหม่ จ. เชียงใหม่ 50200
โทรศัพท์ : 0 5321 0244 โทรสาร : 0 5321 206
รถยนต์ จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) แล้วแยกเข้าทางหลวงหมายเลข 32 ( สายเอเซีย ) ผ่าน อยุธยา อ่างทอง นครสวรรค์ แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 1 ผ่าน จังหวัดลำปาง แยกซ้ายผ่านจังหวัดลำพูน ถึงตัวเมืองเชียงใหม่ รวมระยะทาง 696 กิโลเมตร
เครื่องบิน มีสายการบินหลายสาย ที่เปิดให้บริการจากกรุงเทพฯ มาเชียงใหม่ เช่น การบินไทย, บางกอกแอร์เวย์, นกแอร์ ฯลฯ จาก สนามบินเชียงใหม่ สามารถจ้างเหมารถยนต์โดยสารรับจ้างมาเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้ ในอัตราที่แล้วแต่จะได้ตกลงกันไว้

รถไฟ รถไฟ จากหัวลำโพงมาเชียงใหม่ มีวันละ 7 เที่ยว ตั้งแต่เวลา 06:20 – 22:00 น. โดยรถสปินเตอร์, รถเร็ว และรถด่วนพิเศษ เมื่อเดินทางมาถึงสถานีรถไฟ เชียงใหม่ สามารถเรียกบริการรถยนต์โดยสาร ที่จอดอยู่ประจำสถานีรถไฟเชียงใหม่ มาส่งที่ที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้ ติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่
- สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. 0-2223-7010 หรือ 0-2220-4334
- สถานีรถไฟเชียงใหม่ โทร. 0-5324-4795, 0-5324-2094, 0-5324-7462 หรือ 0-5324-536

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา จ.เชียงใหม่

คณะรัฐมนตรี ได้มีมติเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2532 กำหนดให้ปี พ.ศ. 2532-2535 เป็นปีแห่งการป้องกันและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และต่อมารัฐมนตรีมีนโยบายที่จะอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ของชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ไว้ในลักษณะของอุทยานแห่งชาติ ต่อมาส่วนอุทยานแห่งชาติ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่ของส่วนอุทยานฯ มาสำรวจและจัดตั้งให้เป็นอุทยานแห่งชาติ โดยมีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มนำแม่ฝางท้องที่ตำบลศรี ดงเย็น ตำบลแม่ทะลบ อำเภอไชยปราการ ท้องที่ตำบลแม่ข่า ตำบลแม่คะ อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่ลาวฝั่งซ้าย ท้องที่ตำบลป่าแดด ตำบลศรีถ้อย ตำบลท่าก๊อ จังหวัดเชียงราย โดยใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา" มีเนื้อที่ประมาณ 455.9 ตารางกิโลเมตร หรือ 284,937.5 ไร่

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
น้ำตกห้วยทรายขาว เป็นน้ำตกขนาดเล็ก เกิดจากลำห้วยทรายขาว มี 3 ชั้น มีแอ่งน้ำให้ลงเล่นได้ มีน้ำมากเฉพาะฤดูฝน อยู่ห่างที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 300 เมตร

น้ำตกดอยเวียงผา เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 18 เมตร เกิดจากลำห้วยแม่ทะลบอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 8 กิโลเมตร

น้ำตกแม่ฝางหลวง เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10 เมตร มีน้ำไหลตลอดปี สามารถเล่นน้ำได้อย่างปลอดภัย อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ วผ. 1 (หัวฝาย) ประมาณ 10 กิโลเมตร ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านมูเซอแม่ฝางหลวง การเดินทางสะดวก

จุดชมวิวดอยเวียงผา ชมความงามของธรรมชาติ ทิวเขา ในยามเช้าและยามเย็นในฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นและมีหมอกในตอนเช้า เป็นความงามที่น่าสัมผัส อยู่ห่างจากหน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติที่ วผ.1 (หัวฝาย) ประมาณ 30 กิโลเมตร

น้ำตกป่าซ้อ ตั้งอยู่บริเวณทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านมูเซอ ท้องที่หมู่ที่ 4 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นน้ำตกขนาดกลาง มีน้ำไหลตลอดปี

น้ำตกห้วยหก ตั้งอยู่บริเวณป่าทางทิศใต้ของหมู่บ้านห้วยหก ท้องที่หมู่ที่ 4 ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีน้ำไหลตลอดปี สภาพป่าเป็นป่าเบญจพรรณและป่าไม้

ดอยเวียงผา มีความสูง 1,834 เมตร จากระดับน้ำทะเล บนยอดดอยสภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ อากาศเย็น ทิวทัศน์สวยงาม สามารถชมทิวทัศน์ได้โดยรอบ เหมาะกับผู้ที่ต้องการศึกษาธรรมชาติ โดยบนยอดดอยยังสามารถพลเห็นพรรณไม้หายากบนที่สูง คือ กุหลายพันปี กายอม กุหลาบขาว และดอกหญ้าหายากนานาช

กุหลาบพันปี เป็นไม้หาดูได้ยากจะกระจายอยู่ในพื้นที่สูง สามารถหาดูได้บนยอดดอยเวียงผาดอกจะบานในช่วงต้นเดือนมกราคมถึงปลายเดือน กุมภาพันธ์ เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ขนาดเล็ก สูงประมาณ 10 เมตร เมื่อโตเต็มที่เปลือกสีน้ำตาลอมแดง มีดอกอยู่ในตุ่มตาเดียวกัน ดอกสีแดงเข้มสะดุดตา เป็นช่อกลม มี 5 แฉก เกสรตัวผู้ 10 อัน สั้นกว่าหลอดกลีบ สถานภาพเป็นพืชหายาก

กุหลาบขาว ไม้พุ่มสูง 2-3 เมตร กิ่งอ่อนมีขนและเกล็ดสีน้ำตาล ใบเดี่ยว เรียงวนเวียนสลับเป็นกลุ่มที่ปลายกิ่ง มีติ่งโคนสอบ ด้านหลังมีเกล็ดสีน้ำตาล ดอกสีขาว หรือขาวอมชมพู ออกดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง โคนเชื่อมกัน ปลายแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ เชื่อมกันคล้ายรูปแตรปลายแยกเป็นกลีบกลม ขอบเป็นคลื่น ด้านนอกมีเกล็ดปกคลุมทั่วไป ด้านในมีจุดประสีเหลือง ผลรูปรี ผิวขรุขระเมื่อแก่ เมล็ดมีจำนวนมาก ขนาดเล็กมีปีกบาง พบได้ตามบริเวณบนภูเขาหินทราย ที่โล่งแจ้ง ตามโขดหิน หรือซอกหิน ที่ระดับความสูง 1,000-1,600 เมตร มักขึ้นกันเป็นกลุ่มใหญ่ บนยอดดอยเวียงผาจะออกดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงพฤษภาคม

ที่ตั้งและการเดินทาง
อุทยานแห่งชาติดอยเวียงผา
ตู้ ปณ. 14 ปณจ.ไชยปราการ อ. ไชยปราการ จ. เชียงใหม่ 50320
โทรศัพท์ : 0 7186 2118รถยนต์ จาก จังหวัดเชียงใหม่ใช้ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 ไปทางอำเภอไชยปราการ ถึงกิโลเมตรที่ 125 บ้านแม่ขิหล่ายฝาง เลี้ยวขวาไปตามทางอีก 12 กิโลเมตร จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติดอยเ

รถโดยสารประจำทาง มี รถประจำทางปรับอากาศสายกรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ออกจากสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนกำแพงเพชร2 ทุกวัน วันละหลายเที่ยว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่บริษัท ขนส่ง จำกัด โทรศัพท์ 0-2537-8055 และที่เชียงใหม่ 0-5324-1449,0-5324-2664 จากตัวเมืองเชียงใหม่ มีรถสายเชียงใหม่-ฝาง ออกจากสถานีขนส่งช้างเผือกทุกครึ่งชั่วโมง ลงที่หน้าตลาดบ้านท่า อำเภอไชยปราการ จากนั้นติดต่อเหมารถต่อไปยังที่ทำการอุทยานฯ อีกประมาณ 12 กิโลเมตร

อุทยานแห่งชาติผาแดง (เชียงดาว) จ.เชียงใหม่

อุทยานแห่งชาติผาแดง (เชียงดาว) เป็นแนวเทือกเขาติดต่อจากดอยเชียงดาวและดอยผาแดง เป็นป่าผืนเดียวกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งรวมเรียกว่า ป่าทางด้านเหนือของประเทศ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิงและแม่แตง เรียกว่า ขุนน้ำปิงและขุนน้ำแม่แตง อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเชียงดาว ท้องที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ท้องที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจ คือ น้ำตกศรีสังวาลย์ น้ำตกปางตอง น้ำรูนิเวศน์ ถ้ำแกลบ ถ้ำตับเตา บ่อน้ำร้อนโป่งอาง ดอยผาตั้ง ดอยผาแดง จุดชมทิวทัศน์ยอดดอย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 721,825 ไร่ หรือ 1,154.92 ตารางกิโลเมตรสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติ ประชาชนรู้จักและคุ้นเคยกับสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาวมาก่อน อีกทั้งเป็นชื่อของอำเภอเชียงดาว ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียง รู้จักกันแพร่หลาย มีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก จุดชมวิว เป็นต้น กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 ให้นายโชดก จรุงคนธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้น ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว ท้องที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และได้มีการสำรวจเพิ่มเติม ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และหน่วยงานอุทยานแห่งชาตินี้ได้ขออนุมัติใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติตามหนังสือ อุทยานแห่งชาติที่ กษ. 0713 (ชด)/9 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533 ว่า อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้ (นายไพโรจน์ สุวรรณกร) ให้อนุมัติให้ใช้ชื่อ “อุทยานแห่งชาติเชียงดาว” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2533 ทั้งนี้เพราะเป็นชื่อป่าสงวนแห่งชาติ และอำเภอเชียงดาว ซึ่งประชาชนรู้จักกันดีในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประชุมครั้งที่ 1/2538 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2538 มีมติเห็นชอบ ให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเชียงดาว โดยเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ที่ นร 0204/5718 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 ยืนยันมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณป่าเชียง ดาว ในท้องที่ตำบลเมืองนะ ตำบลทุ่งข้างพวง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห บลเวียงแหง อำเภอเวียงแหง และป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลศรีดงเย็นอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น และสำนักงานเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินดังกล่าว ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายตามหนังสือที่ นร 0204/14602 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 98 ก วันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาชื่ออุทยานแห่งชาติให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดเด่น และศักยภาพที่สำคัญของพื้นที่ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติเชียงดาว เป็นอุทยานแห่งชาติผาแดง

สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
น้ำตกศรีสังวาลย์ เป็นน้ำตกหินปูนขนาดกลาง มีความกว้างประมาณ 10 - 12 เมตร มีความสูงประมาณ 10 - 15 เมตร มีน้ำตก 3 ชั้น ไหลลงเป็น 3 ช่วง เกิดจากขุนน้ำนาหวาย สภาพทั่วไปบริเวณน้ำตกมีพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่บ้าง ตอนต้นน้ำพื้นที่ใกล้เคียงถูกแผ้วถางป่า ป่าโปร่งมีป่าไผ่แทรกอยู่บ้าง ตอนท้ายของน้ำตกยังมีสภาพดีอยู่ น้ำตกนี้อยู่ที่บ้านนาหวาย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว ห่างจากทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1178 ตอนเมืองงาย-บ้านนาหวาย ประมาณ 150 เมตร แยกที่ กม. 24.5 อยู่ห่างจากอำเภอเชียงดาวประมาณ 35 กิโลเมตร การคมนาคมสะดวกสบาย

น้ำตกปางตอง เป็นน้ำตกขนาดกลางที่ซ่อนตัวอยู่ในป่ามีลักษณะเด่นสวยงามเฉพาะตัว เกิดจาก ลำน้ำขุ่นแม่งาย น้ำจะไหลลงจากเขาลอดลงรูไปใต้ดินระยะทางประมาณ 50 - 60 เมตร แล้วไหลออกจากรูลง หน้าผาเป็นน้ำตกกว้างประมาณ 10 เมตร มี 3 ชั้น 2 ช่วง บริเวณน้ำตกมีสภาพป่าเป็นธรรมชาติเป็นป่าดงดิบ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่นอยู่ห่างจากถนนสายป้ายแม่จา-เปียงหลวง บริเวณ กม.ที่ 20 การคมนาคมสะดวกทุกฤดู

ถ้ำแกลบ เป็นถ้ำขนาดกลางเกิดจากเขาหินภายในถ้ำ มีความกว้างประมาณ 10 เมตร มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พื้นล่างเป็นทางน้ำไหลออกมาภายในถ้ำไหลออกทางหน้าถ้ำ ระยะทางเดินเข้าไปเท่าที่สำรวจได้ประมาณ 500 เมตร ผนังถ้ำด้านข้างตลอดทาง มีลักษณะเป็นชั้นยื่นออกมาทั้งสองด้าน สันนิษฐานว่าเป็นลักษณะรางน้ำที่น้ำกัดเซาะจนแยกออกจากกันเป็นร่องน้ำ ผนังด้านบนมีหินงอกหินย้อย สวยงามสลับกันไป ด้านหน้าถ้ำเป็นพื้นที่ราบ ส่วนบนภูเขาใกล้เคียง มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณนี้อยู่ห่าง ถ้ำอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-อำเภอฝาง) ตรง กม ที่ 99 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งห่างจากบ้านห้วยจะด่าน ประมาณ 60 เมตร

ถ้ำตับเตา อยู่ตรงบริเวณบ้านตับเตา หน้าถ้ำเป็นวัดป่ามีอายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป ลักษณะถ้ำเป็นถ้ำที่มีขนาดเล็กกว่าถ้ำเชียงดาว จากการสำรวจด้านที่ติดกับเขา มีลำห้วยไหลผ่านเข้าไปในเขตวัด น้ำใสสะอาดตลอดปี มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ สภาพป่าบริเวณใกล้เคียง สมบูรณ์มาก การคมนาคมสะดวกทุกฤดูกาล การเดินทางแยกตรง กม. ที่ 118 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) และมีถนนตรงไปถึงบริเวณวัดประมาณ 3 กิโลเมตร

ดอยผาตั้ง เป็นเขาหินสูงที่มีลักษณะเด่นในตัวคือ เป็นแท่งกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่มีความสวยงาม อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 93 ของทางหลวางแผ่นดินหมายเลขที่ 170 สายเชียงใหม่ - ฝาง ระยะทางเข้าไปถึงประมาณ 300 เมตร

ดอยผาแดง ถ้ำแกลบเป็นเขาหินสูงเรียงตัวกันไปมา ทำให้เกิดจุดเด่นเฉพาะมีลักษณะเป็นทิวทัศน์มีความสวยงาม อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 98 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง

บ่อน้ำร้อนโป่งอ่าง เป็นบ่อน้ำร้อนขนาดเล็ก มีแก๊ส กำมะถัน และควันไอน้ำระเหยขึ้นมา มีน้ำไหลตลอดปี น้ำมีอุณหภูมิสูง 70-80 องศาเซลเซียส บ่อน้ำร้อนตั้งอยู่ในบริเวณทางเข้าหมู่บ้านบริเวณโป่งอ่าง แยก กม. 22 ของถนนเมืองงาย-บ้านนาหวาย ห่างจากทางแยกประมาณ 2 กิโลเมตร ตรงบริเวณนี้มีนกหลายชนิดชุกชุม ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร

จุดชุมวิวยอดดอย อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 45 เส้นทางลาดยาง แม่จา-เปียงหลวง บริเวณนี้เป็นพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำขุนคอง ส่องอนุรักษ์ต้นน้ำ สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้ทั้งสองเขต คือ ทางด้านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดอยเชียงดาวและเขตอุทยานแห่งชาติเชียงดาว

จุดชุมวิวยอดดอยถ้วย อยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งยอดดอยถ้วยนี้เป็นจุดต้นน้ำลำห้วยแม่น้ำปิง ซึ่งเรียกว่า “ขุนปิง” สภาพป่าอุดมสมบูรณ์อากาศเย็นสบาย สามารถชมวิวทิวทัศน์ที่งดงามทั้งในเขตประเทศไทย และทิวเขาในเขตประเทศพม่า โดยเริ่มการเดินทางจากบ้านเมืองนะ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว ไปตามสันเขาถึงบริเวณฐานยอดดอยถ้วย ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตร

ขุนน้ำรู ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง มีลักษณะเป็นธารน้ำเล็กๆ ไหลออกมาจากภูเขา ชาวบ้านเชื่อว่าต้นน้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนฤดูทำนาทุกปีจะจัดพิธีไหว้และพิธีบวชป่าชุมชนขึ้นที่นี่

น้ำตกทุ่งแก้ว เป็นน้ำตกหินปูนอีกแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามพอสมควร สูงประมาณ 15 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 8 กิโลเมตร

ถ้ำลม สาเหตุที่เรียกว่า “ถ้ำลม” เนื่องจากทางลงไปในถ้ำจะมีลมเข้ามาปะทะบางเบาพอให้รู้สึกตัวตลอดเวลา ทำให้อากาศภายในถ้ำโปร่งและเย็นสบาย ถ้ำลม เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ 5-6 ห้องโถง แต่ละห้องโถงอยู่ห่างกันประมาณ 30-40 เมตร มีหินงอกหินย้อยลักษณะสวยงามแปลกตา ระยะทางเดินภายในถ้ำประมาณ 1,500 เมตร ในฤดูฝนจะมีธารน้ำไหลมีความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ถ้ำลมอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1178 ประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าหมู่บ้านเมืองนะเหนืออีก 19 กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร ถึงปากทางเข้าถ้ำลม

ถ้ำผาชัน เป็นถ้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 1 ชั่วโมง

ถ้ำดอยกลางเมือง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 1 กิโลเมตร ทางเข้าถ้ำเป็นหน้าผาสูง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 22 กิโลเมตร โดยเดินทางไปที่บ้านเมืองนะ แล้วเดินเท้าไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง

ที่ตั้งและการเดินทาง
อุทยานแห่งชาติผาแดง (เชียงดาว)
ต.เมืองนะ อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ 50170
โทรศัพท์ : 0 5326 1466รถยนต์ ปัจจุบัน การคมนาคมได้รับการพัฒนาการก่อสร้างทางถนนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การเดินทางไปตามจุดต่างๆ สะดวกรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดให้ท้องที่เชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยสามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง ดังนี้
- เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ช่วงถนนที่อยู่ติดเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ช่วงบ้านปิงโค้ง (กม.83) อำเภอเชียงราย-แยกเข้าบ้านตับเตา (กม.118) อำเภอไชยปราการ
- เส้น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1178 ตอนแยกเมืองงาย กม. 79 บ้านนาหวาย กม. 24 ระยะทาง 24 กิโลเมตร และจากบ้านนาหวาย กม. ที่ 24 - บ้านเมืองนะ ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร ใช้งานได้ทุกฤดูกาล
- ถนน กปร. กลาง ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เข้าบ้านห้วยจะด่าน (แยก กม. ที่ 99 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107)