อุทยานแห่งชาติผาแดง (เชียงดาว) เป็นแนวเทือกเขาติดต่อจากดอยเชียงดาวและดอยผาแดง เป็นป่าผืนเดียวกันกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว และอุทยานแห่งชาติศรีลานนา ซึ่งรวมเรียกว่า ป่าทางด้านเหนือของประเทศ เป็นต้นน้ำลำธารของแม่น้ำปิงและแม่แตง เรียกว่า ขุนน้ำปิงและขุนน้ำแม่แตง อยู่ในป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเชียงดาว ท้องที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ท้องที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ มีลักษณะภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อน สภาพป่ามีความอุดมสมบูรณ์ มีจุดเด่นทางธรรมชาติที่น่าสนใจ คือ น้ำตกศรีสังวาลย์ น้ำตกปางตอง น้ำรูนิเวศน์ ถ้ำแกลบ ถ้ำตับเตา บ่อน้ำร้อนโป่งอาง ดอยผาตั้ง ดอยผาแดง จุดชมทิวทัศน์ยอดดอย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 721,825 ไร่ หรือ 1,154.92 ตารางกิโลเมตรสภาพภูมิประเทศโดยทั่วไปของอุทยานแห่งชาติ ประชาชนรู้จักและคุ้นเคยกับสภาพป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาวมาก่อน อีกทั้งเป็นชื่อของอำเภอเชียงดาว ในท้องที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อเสียง รู้จักกันแพร่หลาย มีจุดเด่นทางธรรมชาติหลายแห่ง เช่น ถ้ำ น้ำตก จุดชมวิว เป็นต้น กรมป่าไม้จึงมีคำสั่งที่ 475/2532 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2532 ให้นายโชดก จรุงคนธ์ เจ้าพนักงานป่าไม้ 5 กองอุทยานแห่งชาติ ไปดำเนินการสำรวจเบื้องต้น ในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าเชียงดาว ท้องที่อำเภอเวียงแหง อำเภอเชียงดาว และป่าสงวนแห่งชาติป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และได้มีการสำรวจเพิ่มเติม ตามคำสั่งกรมป่าไม้ที่ 1627/2532 ลงวันที่ 19 ตุลาคม 2532 เพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามนัยมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และหน่วยงานอุทยานแห่งชาตินี้ได้ขออนุมัติใช้ชื่ออุทยานแห่งชาติตามหนังสือ อุทยานแห่งชาติที่ กษ. 0713 (ชด)/9 ลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2533 ว่า อุทยานแห่งชาติเชียงดาว ซึ่งอธิบดีกรมป่าไม้ (นายไพโรจน์ สุวรรณกร) ให้อนุมัติให้ใช้ชื่อ “อุทยานแห่งชาติเชียงดาว” เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2533 ทั้งนี้เพราะเป็นชื่อป่าสงวนแห่งชาติ และอำเภอเชียงดาว ซึ่งประชาชนรู้จักกันดีในคราวประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ประชุมครั้งที่ 1/2538 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2538 มีมติเห็นชอบ ให้กรมป่าไม้ดำเนินการสำรวจเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเชียงดาว โดยเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือ ที่ นร 0204/5718 ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2543 ยืนยันมติคณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดบริเวณป่าเชียง ดาว ในท้องที่ตำบลเมืองนะ ตำบลทุ่งข้างพวง ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว ตำบลเปียงหลวง ตำบลแสนไห บลเวียงแหง อำเภอเวียงแหง และป่าลุ่มน้ำแม่ฝาง ในท้องที่ตำบลหนองบัว ตำบลศรีดงเย็นอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น และสำนักงานเลขาธิการ คณะรัฐมนตรีนำร่างพระราชกฤษฎีกา กำหนดบริเวณที่ดินดังกล่าว ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ขึ้นทูลเกล้า ฯ ถวายเพื่อประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายตามหนังสือที่ นร 0204/14602 ลงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 117 ตอนที่ 98 ก วันที่ 2 พฤศจิกายน 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2549 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้พิจารณาชื่ออุทยานแห่งชาติให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับจุดเด่น และศักยภาพที่สำคัญของพื้นที่ที่จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงเปลี่ยนชื่ออุทยานแห่งชาติเชียงดาว เป็นอุทยานแห่งชาติผาแดง
สถานที่น่าสนใจภายในอุทยานฯ
น้ำตกศรีสังวาลย์ เป็นน้ำตกหินปูนขนาดกลาง มีความกว้างประมาณ 10 - 12 เมตร มีความสูงประมาณ 10 - 15 เมตร มีน้ำตก 3 ชั้น ไหลลงเป็น 3 ช่วง เกิดจากขุนน้ำนาหวาย สภาพทั่วไปบริเวณน้ำตกมีพันธุ์ไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่บ้าง ตอนต้นน้ำพื้นที่ใกล้เคียงถูกแผ้วถางป่า ป่าโปร่งมีป่าไผ่แทรกอยู่บ้าง ตอนท้ายของน้ำตกยังมีสภาพดีอยู่ น้ำตกนี้อยู่ที่บ้านนาหวาย ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว ห่างจากทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1178 ตอนเมืองงาย-บ้านนาหวาย ประมาณ 150 เมตร แยกที่ กม. 24.5 อยู่ห่างจากอำเภอเชียงดาวประมาณ 35 กิโลเมตร การคมนาคมสะดวกสบาย
น้ำตกปางตอง เป็นน้ำตกขนาดกลางที่ซ่อนตัวอยู่ในป่ามีลักษณะเด่นสวยงามเฉพาะตัว เกิดจาก ลำน้ำขุ่นแม่งาย น้ำจะไหลลงจากเขาลอดลงรูไปใต้ดินระยะทางประมาณ 50 - 60 เมตร แล้วไหลออกจากรูลง หน้าผาเป็นน้ำตกกว้างประมาณ 10 เมตร มี 3 ชั้น 2 ช่วง บริเวณน้ำตกมีสภาพป่าเป็นธรรมชาติเป็นป่าดงดิบ มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่นอยู่ห่างจากถนนสายป้ายแม่จา-เปียงหลวง บริเวณ กม.ที่ 20 การคมนาคมสะดวกทุกฤดู
ถ้ำแกลบ เป็นถ้ำขนาดกลางเกิดจากเขาหินภายในถ้ำ มีความกว้างประมาณ 10 เมตร มีค้างคาวอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก พื้นล่างเป็นทางน้ำไหลออกมาภายในถ้ำไหลออกทางหน้าถ้ำ ระยะทางเดินเข้าไปเท่าที่สำรวจได้ประมาณ 500 เมตร ผนังถ้ำด้านข้างตลอดทาง มีลักษณะเป็นชั้นยื่นออกมาทั้งสองด้าน สันนิษฐานว่าเป็นลักษณะรางน้ำที่น้ำกัดเซาะจนแยกออกจากกันเป็นร่องน้ำ ผนังด้านบนมีหินงอกหินย้อย สวยงามสลับกันไป ด้านหน้าถ้ำเป็นพื้นที่ราบ ส่วนบนภูเขาใกล้เคียง มีฝูงลิงอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก บริเวณนี้อยู่ห่าง ถ้ำอยู่ห่างจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-อำเภอฝาง) ตรง กม ที่ 99 ประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งห่างจากบ้านห้วยจะด่าน ประมาณ 60 เมตร
ถ้ำตับเตา อยู่ตรงบริเวณบ้านตับเตา หน้าถ้ำเป็นวัดป่ามีอายุประมาณ 40-50 ปีขึ้นไป ลักษณะถ้ำเป็นถ้ำที่มีขนาดเล็กกว่าถ้ำเชียงดาว จากการสำรวจด้านที่ติดกับเขา มีลำห้วยไหลผ่านเข้าไปในเขตวัด น้ำใสสะอาดตลอดปี มีต้นไม้ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่ สภาพป่าบริเวณใกล้เคียง สมบูรณ์มาก การคมนาคมสะดวกทุกฤดูกาล การเดินทางแยกตรง กม. ที่ 118 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) และมีถนนตรงไปถึงบริเวณวัดประมาณ 3 กิโลเมตร
ดอยผาตั้ง เป็นเขาหินสูงที่มีลักษณะเด่นในตัวคือ เป็นแท่งกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่มีความสวยงาม อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 93 ของทางหลวางแผ่นดินหมายเลขที่ 170 สายเชียงใหม่ - ฝาง ระยะทางเข้าไปถึงประมาณ 300 เมตร
ดอยผาแดง ถ้ำแกลบเป็นเขาหินสูงเรียงตัวกันไปมา ทำให้เกิดจุดเด่นเฉพาะมีลักษณะเป็นทิวทัศน์มีความสวยงาม อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 98 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 สายเชียงใหม่-ฝาง
บ่อน้ำร้อนโป่งอ่าง เป็นบ่อน้ำร้อนขนาดเล็ก มีแก๊ส กำมะถัน และควันไอน้ำระเหยขึ้นมา มีน้ำไหลตลอดปี น้ำมีอุณหภูมิสูง 70-80 องศาเซลเซียส บ่อน้ำร้อนตั้งอยู่ในบริเวณทางเข้าหมู่บ้านบริเวณโป่งอ่าง แยก กม. 22 ของถนนเมืองงาย-บ้านนาหวาย ห่างจากทางแยกประมาณ 2 กิโลเมตร ตรงบริเวณนี้มีนกหลายชนิดชุกชุม ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศใต้ประมาณ 3 กิโลเมตร
จุดชุมวิวยอดดอย อยู่ตรงกิโลเมตรที่ 45 เส้นทางลาดยาง แม่จา-เปียงหลวง บริเวณนี้เป็นพื้นที่สวนป่าของหน่วยจัดการต้นน้ำขุนคอง ส่องอนุรักษ์ต้นน้ำ สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้ทั้งสองเขต คือ ทางด้านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ดอยเชียงดาวและเขตอุทยานแห่งชาติเชียงดาว
จุดชุมวิวยอดดอยถ้วย อยู่ทางตอนเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ซึ่งยอดดอยถ้วยนี้เป็นจุดต้นน้ำลำห้วยแม่น้ำปิง ซึ่งเรียกว่า “ขุนปิง” สภาพป่าอุดมสมบูรณ์อากาศเย็นสบาย สามารถชมวิวทิวทัศน์ที่งดงามทั้งในเขตประเทศไทย และทิวเขาในเขตประเทศพม่า โดยเริ่มการเดินทางจากบ้านเมืองนะ ตำบลเมืองนะ อำเภอเชียงดาว ไปตามสันเขาถึงบริเวณฐานยอดดอยถ้วย ระยะทางเดินเท้าประมาณ 10 กิโลเมตร
ขุนน้ำรู ต้นกำเนิดแม่น้ำปิง มีลักษณะเป็นธารน้ำเล็กๆ ไหลออกมาจากภูเขา ชาวบ้านเชื่อว่าต้นน้ำแห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ก่อนฤดูทำนาทุกปีจะจัดพิธีไหว้และพิธีบวชป่าชุมชนขึ้นที่นี่
น้ำตกทุ่งแก้ว เป็นน้ำตกหินปูนอีกแห่งหนึ่งที่มีความสวยงามพอสมควร สูงประมาณ 15 เมตร อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติ 8 กิโลเมตร
ถ้ำลม สาเหตุที่เรียกว่า “ถ้ำลม” เนื่องจากทางลงไปในถ้ำจะมีลมเข้ามาปะทะบางเบาพอให้รู้สึกตัวตลอดเวลา ทำให้อากาศภายในถ้ำโปร่งและเย็นสบาย ถ้ำลม เป็นถ้ำหินปูนขนาดใหญ่ ภายในถ้ำแบ่งเป็นห้องโถงขนาดใหญ่ 5-6 ห้องโถง แต่ละห้องโถงอยู่ห่างกันประมาณ 30-40 เมตร มีหินงอกหินย้อยลักษณะสวยงามแปลกตา ระยะทางเดินภายในถ้ำประมาณ 1,500 เมตร ในฤดูฝนจะมีธารน้ำไหลมีความลึกประมาณ 50 เซนติเมตร ถ้ำลมอยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปตามทางหลวงจังหวัดหมายเลข 1178 ประมาณ 7 กิโลเมตร เลี้ยวเข้าหมู่บ้านเมืองนะเหนืออีก 19 กิโลเมตร จากนั้นเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร ถึงปากทางเข้าถ้ำลม
ถ้ำผาชัน เป็นถ้ำขนาดใหญ่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ใช้เวลาเดินเท้าประมาณ 1 ชั่วโมง
ถ้ำดอยกลางเมือง เป็นถ้ำขนาดใหญ่ ลึกประมาณ 1 กิโลเมตร ทางเข้าถ้ำเป็นหน้าผาสูง ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติประมาณ 22 กิโลเมตร โดยเดินทางไปที่บ้านเมืองนะ แล้วเดินเท้าไปอีกประมาณ 2 ชั่วโมง
ที่ตั้งและการเดินทาง
อุทยานแห่งชาติผาแดง (เชียงดาว)
ต.เมืองนะ อ. เชียงดาว จ. เชียงใหม่ 50170
โทรศัพท์ : 0 5326 1466รถยนต์ ปัจจุบัน การคมนาคมได้รับการพัฒนาการก่อสร้างทางถนนเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้การเดินทางไปตามจุดต่างๆ สะดวกรวดเร็วขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลได้กำหนดให้ท้องที่เชียงใหม่เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยสามารถเดินทางได้หลายเส้นทาง ดังนี้
- เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107 (เชียงใหม่-ฝาง) ช่วงถนนที่อยู่ติดเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ได้แก่ ช่วงบ้านปิงโค้ง (กม.83) อำเภอเชียงราย-แยกเข้าบ้านตับเตา (กม.118) อำเภอไชยปราการ
- เส้น ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1178 ตอนแยกเมืองงาย กม. 79 บ้านนาหวาย กม. 24 ระยะทาง 24 กิโลเมตร และจากบ้านนาหวาย กม. ที่ 24 - บ้านเมืองนะ ระยะทางประมาณ 34 กิโลเมตร ใช้งานได้ทุกฤดูกาล
- ถนน กปร. กลาง ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร เข้าบ้านห้วยจะด่าน (แยก กม. ที่ 99 ของทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 107)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น