วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

สถานที่ท่องเที่ยว จ.กำแพงเพชร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ทางเข้าตั้งอยู่นอกเมืองกำแพงเพชร ไปประมาณ 5 กิโลเมตร ตามถนนสายกำแพงเพชร - พรานกระต่าย แล้วเลี้ยวซ้ายตรงกิโลเมตรที่ 360 อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แบ่งออกเป็นโบราณสถานฝั่งตะวันออก และฝั่งตะวันตกของแม่น้ำปิง ซึ่งใช้วัสดุก่อสร้างที่แตกต่างกัน ด้านตะวันออกของแม่น้ำปิง เป็นที่ตั้งเมืองกำแพงเพชร โบราณสถานจะสร้างด้วยศิลาแลง และมีขนาดใหญ่ ส่วนโบราณสถานฝั่งตะวันตก คือเมืองนครชุม ก่อสร้างด้วยอิฐ และมีขนาดเล็ก แต่รูปแบบศิลปะที่ปรากฏ มีลักษณะร่วมสมัยระหว่างสุโขทัย และอยุธยา
นอกจากนี้ยังมีโบราณสถานนอกเมืองกำแพงเพชร หรือเขตอรัญญิก ซึ่งเป็นที่อยู่ของสงฆ์ ที่มุ่งในการปฏิบัติวิปัสสนาธรรม อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ระยะทาง 2 กิโลเมตร

อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ได้รับการประกาศให้เป็น “มรดกโลก” ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย และอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย จากองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2534

ผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน เวลา ๐8.๐๐-17.๐๐ น ค่าเข้าชมชาวไทย 1๐ บาท ชาวต่างประเทศ 4๐ บาท สำหรับผู้ที่จะนำรถเข้าชมในบริเวณอุทยานจะต้องเสียค่าผ่านประตูคันละ 5๐ บาท รายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
โทร ๐ 5571 1921

สถานที่น่าสนใจภายในเขตอุทยานฯ
วัดพระแก้ว ตั้งอยู่ใจกลางเมืองกำแพงเพชร เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มโบราณสถาน มรดกโลก ในอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร เป็นวัดที่สำคัญ อยู่ติดกับบริเวณวังเช่นเดียวกับวัดพระศรีสรรเพชญ์ ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือวัดมหาธาตุกลางเมืองสุโขทัย ภายในบริเวณวัดประกอบด้วย เจดีย์ประธานที่ฐานมีสิงห์ล้อม เจดีย์ทรงกลมที่ฐานมีช้างรอบ วิหาร มณฑป อุโบสถ และเจดีย์ราย ทั้งหมดล้อมรอบด้วย กำแพงศิลาแลงเป็นแท่ง ๆ โดยรอบ

วัดพระธาตุ ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันออกของวัดพระแก้ว มีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมเป็นประธาน ล้อมรอบด้วยระเบียบคด ที่เชื่อมต่อกับวิหารด้านทิศตะวันออก ที่สองข้างวิหารมีเจดีย์รายอยู่ข้างละ 1 องค์ มีกำแพงแก้วล้อมรอบ

สระมน เป็นสระรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 16 เมตร รอบสระมีคันดินคูน้ำล้อมรอบ จากการขุดค้นที่บริเวณนี้ พบเศษกระเบื้องมุงหลังคา เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับ


กำแพงเมืองกำแพงเพชร เป็นกำแพงชั้นเดียว สร้างเป็นเชิงเทินมี 2 ตอน ตอนล่างเป็นมูลดินสูงขึ้นไป 3-4 เมตร ตอนบนก่อด้วยศิลาแลง เป็นเชิงเทินมีใบเสมา และเจาะตรงใบเสมาไว้สำหรับมองข้าศึก

วัดพระบรมธาตุ ตั้งอยู่ใจกลางเมืองนครชุม เป็นเจดีย์ที่เจ้าพระยาลิไทเสด็จมาสถาปนา และบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เมื่อ พ.ศ. 1900 เดิมเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ 3 องค์ ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน ต่อมาพ่อค้าไม้ชาวกะเหรี่ยงได้ปฏิสังขรณ์ เป็นเจดีย์แบบพม่า ดังที่ปรากฏเมื่อ 8๐ –9๐ ปีมาแล้ว

วัดซุ้มกอ เป็นวัดขนาดเล็ก อยู่ทางทิศใต้ของเมืองนครชุมเจดีย์ ประธานเป็นเจดีย์ฐานแปดเหลี่ยม มีองค์ระฆังแบบลังกา วัดนี้เคยขุดพบพระเครื่อง “ซุ้มกอ” เป็นจำนวนมาก ด้านหน้าของเจดีย์ประธานมีวิหารเล็ก ๆ ๑ หลัง

วัดพระบรมธาตุเจดียาราม มีเจดีย์แบบพม่า 1 องค์ สันนิษฐานว่าเดิมคงเป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ อย่างศิลปะสุโขทัย แต่ปัจจุบันเป็นเจดีย์แบบพม่า เนื่องจากเศรษฐีพม่าผู้หนึ่งได้มาบูรณะเมื่อประมาณ 1๐๐ ปี มาแล้ว ในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปสัมฤทธิ์สมัยสุโขทัย และอยุธยามากมาย

กำแพงป้อมทุ่งเศรษฐี ตั้งอยู่ริมถนนพหลโยธิน ก่อนถึงตัวเมืองกำแพงเพชรเล็กน้อย ลักษณะเป็นป้อมปราการ ที่ก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยม สูงประมาณ 6 เมตร มีประตูทางเข้าตรงกลางป้อม 4 ด้าน ด้านในของป้อมมีเชิงเทิน ตรงฐานป้อมใต้เชิงเทินเป็นห้องมีทางเดินติดต่อกันได้ ตรงมุมมีป้อมยื่นออก 4 มุม มีรูอยู่ติดกับพื้น แต่ด้านทิศเหนือถูกรื้อออกเสียด้านหนึ่ง

วัดเจดีย์กลางทุ่ง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับสถานีขนส่งกำแพงเพชร เป็นวัดที่ตั้งอยู่นอกเมืองนครชุมทางทิศใต้ หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เจดีย์ประธานทรงดอกบัวตูม มีการจัดผังวัดแบบ อุทกสีมา คือใช้แนวคูน้ำโดยรอบ เพื่อแสดงขอบเขตของวัด ซึ่งเป็นผังที่นิยมมากในสมัยสุโขทัย

วัดหนองพิกุล เป็นวัดสำคัญของเมืองนครชุม ส่วนหลังคาไม่ปรากฎให้เห็น แต่ผนังที่เหลืออยู่ในสภาพสมบูรณ์ ก่อด้วยอิฐฉาบปูนมีลวดลายประดับ เป็นโบราณสถานที่ได้รับอิทธิพลจากลังกา

วัดพระนอน มีกำแพงศิลาแลงปักล้อมรอบวัดไว้ทั้ง 4 ด้าน ด้านหน้าวัดมีบ่อน้ำสี่เหลี่ยม มีห้องอาบน้ำและศาลาน้ำ ฐานและเสาเป็นศิลาแลง มีทางเท้าปูด้วยศิลาแลง มีโบสถ์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่ด้านหน้า ด้านหลังเป็นวิหารพระนอน ก่อสร้างด้วยเสาศิลาแลงขนาดใหญ่ หลักฐานทางประติมากรรมที่พบ คือ ใบเสมารูปเทพพนม พาลีกับทรพี สันนิษฐานว่าสลักขึ้นในสมัยอยุธยา

วัดพระสี่อิริยาบถ หรือ วัดพระยืน วัดนี้มีบ่อน้ำและที่อาบน้ำอยู่หน้าวัดเช่นเดียวกับวัดพระนอน กำแพงเป็นศิลาแลงปักตั้งล้อม 4 ด้าน ด้านหน้าวัดมีวิหารขนาดใหญ่ยกฐานสูง 2 เมตร มีเสาลูกกรง เป็นศิลาแลงเหลี่ยม และมีทับหลังบนมุขหน้าวิหาร สิ่งสำคัญของวัดได้แก่ มณฑปจตุรมุข แต่ละทิศประดิษฐาน พระพุทธรูป 4 ปาง คือ เดิน นั่ง ยืน และนอน อยู่โดยรอบทั้ง 4 ทิศตามลำดับ ปัจจุบันเหลือเพียง พระยืนขนาดใหญ่ที่สวยงาม พระพักตร์เป็นลักษณะพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัย แบบกำแพงเพชรคือ พระนลาฏกว้าง และพระหนุเสี้ยม

วัดพระสิงห์ ถัดจากวัดพระสี่อิริยาบถไปทางทิศเหนือประมาณ 1๐๐ เมตร สันนิษฐานว่าใช้เวลาสร้างถึง 2 สมัย คือ สมัยสุโขทัยและสมัยอยุธยา ผังรวมของวัดแบ่งเขตพุทธาวาส ให้อยู่ในกลุ่มกลาง ล้อมรอบด้วยเขตสังฆาวาส หรือกุฏิสงฆ์ โดยมีพระเจดีย์ฐานสี่เหลี่ยมมีซุ้มทั้ง 4 ด้าน เป็นประธาน ด้านหน้าเป็นพระอุโบสถขนาดใหญ่ ยกฐานประทักษิณสูง บนฐานประทักษิณนี้ประดิษฐานพัทธสีมา ไว้ทั้งแปดทิศ มุขด้านหน้าของฐานประทักษิณ มีรูปสิงห์รูปนาคประดับ

วัดช้างรอบ เป็น วัดที่สร้างบนยอดเนิน มีพระเจดีย์ทรงลังกา ซึ่งยอดหักพังหมดแล้ว มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน ที่ชั้นฐานลานประทักษิณ ประดับด้วยช้างทรงเครื่องครึ่งตัว จำนวน 68 เชือก ระหว่างช้างแต่ละเชือก มีภาพปั้นรูปลายพรรณพฤกษา ในพระพุทธศาสนา เช่น ต้นโพธิ์ และต้นสาละ เป็นต้น

วัดอาวาสใหญ่ มี เจดีย์แปดเหลี่ยมเป็นประธาน ด้านหน้าเป็นวิหารฐานสูงมีทางขึ้น 3 ด้าน มีเจดีย์รายรอบ ด้านหน้าสุดนอกเขตกำแพงแก้วมีบ่อน้ำใหญ่ เรียก “บ่อสามแสน” เพราะน้ำในบ่อนี้ไม่เคยแห้ง

ที่ทำการหน่วยศิลปากรประจำจังหวัดกำแพงเพชร ตั้ง อยู่เลยวัดพระแก้วไปตามเส้นทางกำแพงเพชร - พรานกระต่าย มีทางแยกเข้าไปทางซ้ายมือ ตรงประตูสะพานโคมประมาณ 3๐๐ เมตร เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบ การบูรณะขุดแต่งอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ภายในที่ทำการหน่วยจะมีแผนผังอุทยานฯ ที่สามารถทำให้เข้าใจ การแบ่งส่วนพื้นที่โบราณสถานได้อย่างชัดเจน

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร ตั้งอยู่ที่ถนนปิ่นดำริห์ เป็นที่แสดงโบราณวัตถุและศิลปวัตถุสมัยต่าง ๆ อาทิเช่น ศิลปทวารวดี ศิลปลพบุรี และศิลปรัตนโกสินทร์ โบราณวัตถุส่วนมากเป็นลวดลายปูนปั้นและลวดลายดินเผา เศียรพระพุทธรูป เครื่องสังคโลก ปูนปั้นรูปยักษ์เทวดา และมนุษย์ซึ่งใช้ประดับฐานเจดีย์ หรือติดตั้งวิหาร นอกจากนั้นยังมีเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ ที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้ถูกลอบตัดเศียรและพระหัตถ์ เมื่อ พ.ศ. 2429 และได้ถูกซ่อมแซมให้คืนดีในภายหลัง ผู้สนใจสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ในเวลาราชการทุกวัน เว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา ๐9.๐๐-16.๐๐ น. ค่าเข้าชมชาวไทย 1๐ บาท ชาวต่างประเทศ 3๐ บาท สอบถามรายละเอียด โทร. ๐ 5571 157๐

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดกำแพงเพชร เฉลิมพระเกียรติ ตั้งอยู่เลขที่ 104/5 ถนนปิ่นดำริห์ อยู่ติดกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชรภายในเขตกำแพงเมืองเก่าของจังหวัด กำแพงเพชร เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในพระราชพิธีกาญจนาภิเษก ฉลองสิริราชสมบัติครบ 5๐ ปี สร้างด้วยไม้สักเป็นเรือนไทยหมู่แบบเรือนไทยภาคกลาง พิพิธภัณฑสถานจังหวัดกำแพงเพชรฯ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน คือส่วนของประวัติศาสตร์เมือง ส่วนของมรดกดีเด่น เช่น หินอ่อน แหล่งน้ำมัน และส่วนของชาติพันธุ์วิทยา แสดงถึงชนเผ่าต่างๆ เช่น มูเซอ กะเหรี่ยง ลีซอ และการละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น มีห้องโสตทัศนูปกรณ์ และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ โดยใช้ระบบมัลติมีเดีย มีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ศิลปหัตถกรรมพื้นเมืองของจังหวัด ผลิตภัณฑ์ชาวเขาและกลุ่มแม่บ้าน นอกจากนั้นมีศูนย์จริยศึกษา เพื่อฝึกหัดอบรมงานศิลปประดิษฐ์สำหรับเยาวชนในวัยเรียน ซึ่งจะเป็นนักเรียนจากโรงเรียนต่างๆ ในจังหวัด โดยจะสอนเกี่ยวกับพุทธศาสนา มรรยาท การแกะสลัก ร้อยมาลัย ซึ่งจะเปิดสอนเฉพาะวันอาทิตย์ พิพิธภัณฑสถานจังหวัด กำแพงเพชรฯ เปิดให้เข้าชมทุกวันเวลา ๐9.๐๐-16.3๐ น.

ค่าบัตรผ่านประตู 1๐ บาท ค่าเข้าชมมัลติมีเดีย 25๐ บาท/คณะ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. ๐ 5572 2341-2

ศาลพระอิศว ตั้งอยู่ด้านหลังศาลจังหวัด มีฐานก่อด้วยศิลาแลงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง 1.5๐ เมตร บนฐานชุกชีมีเทวรูปพระอิศวรสัมฤทธิ์ที่จำลองขึ้น เทวรูปพระอิศวรองค์เดิม ปัจจุบันตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร เทวรูปองค์เดิมนี้ในสมัยรัชกาลที่ 5 นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันได้ลักลอบตัดพระเศียร และพระหัตถ์ ส่งลงเรือมายังกรุงเทพฯ จึงโปรดเกล้าฯ ให้ขอพระเศียร และพระหัตถ์คืน และทรงประทานพระอิศวรจำลองให้แทน ซึ่งปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ในพิพิธภัณฑ์กรุงเบอร์ลิน

สิริจิตอุทยาน เป็น สวนสาธารณะเอนกประสงค์ริมฝั่งแม่น้ำปิง มีเนื้อที่ 17๐ ไร่ ประกอบด้วยสนามเด็กเล่น สวนสุขภาพ ศาลาพักผ่อน สวนไม้ดอกไม้ประดับปลูก และลานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ซึ่งสร้างเป็นเรือนไทย มีการแสดงวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยประจำท้องถิ่นที่ลานเทวีกลางแจ้งและมี การจัดจำหน่ายสินค้าโครงการ “หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์” ของชุมชนในเขตเทศบาลเมืองอีกด้วย

หอไตรวัดคูยาง ตั้งอยู่ที่ถนนวิจิตร เขตเทศบาลเมือง เป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ หอไตรนี้สร้างไว้กลางน้ำและมีใต้ถุนสูงเพื่อป้องกันปลวก แมลงสาบ และหนู เข้าไปกัดทำลายพระไตรปิฎก หนังสือ และคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

หลวงพ่ออุโมงค์ วัดสว่างอารมณ์ อยู่ในตำบลนครชุม อำเภอเมือง เป็นพระพุทธรูปแบบเชียงแสนขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 2 เมตร สูงเกือบ 3 เมตร มีพุทธลักษณะที่งดงามยิ่ง เป็นหลักฐานสำคัญประกอบข้อเท็จจริง ถึงความสัมพันธ์ระหว่างกำแพงเพชร และหัวเมืองฝ่ายเหนือ

บ้านไม้สักเก่าแก่ ตั้ง อยู่บนถนนเทศา เขตเทศบาลเมือง เป็นมรดกตกทอดของคหบดีชาวกำแพงกำแพงเพชร มีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น สร้างด้วยไม้สักทั้งหลัง เสาเรือนทุกต้นใช้ไม้สักต้นเดียวยาวตลอด และหน้ามุขประดับด้วยไม้ฉลุมีความสวยงามมาก

ศูนย์แปรรูปผลผลิตการเกษตรบ้านบ่อสามแสน หมู่ 6 บ้านบ่อสามแสน ตำบลหนองปลิงอำเภอเมือง ห่างจากตัวเมืองประมาณ 5 กิโลเมตร บนทางหลวงสายกำแพงเพชร-พรานกระต่าย ศูนย์แห่งนี้ผลิตและจำหน่ายสินค้าแปรรูปทางการเกษตรหลายชนิด ที่ขึ้นชื่อที่สุดได้แก่ กระยาสารท ข้าวแต๋น นางเล็ด ขนมดอกจอก มันรังนก มีความเป็นเอกลักษณ์และรสชาติความอร่อยแบบไทยๆ

บ่อน้ำพุร้อนพระร่วง (บึงสาป) หมู่ 3 ตำบลลานดอกไม้ ห่างจากตัวเมือง 13 กิโลเมตร บนทางหลวงหมายเลข ๑๐๑ สายกำแพงเพชร-พรานกระต่าย แยกซ้ายเข้าไปประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นน้ำพุร้อนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ผุดขึ้นมาจากใต้ดิน จำนวน 5 จุด อุณหภูมิประมาณ 4๐-65 องศาเซลเซียส จากการตรวจสอบของกระทรวงสาธารณสุข ปรากฏว่าไม่มีสารปนเปื้อน และเชื้อโรคอันตรายเกินมาตรฐานแต่อย่างใด มีสถานที่ให้บริการอาบน้ำแร่ในบริเวณน้ำพุร้อนแห่งนี้ด้วย

เมืองไตรตรึงษ์ ตั้งอยู่ที่ตำบลไตรตรึงษ์ บนทางหลวงหมายเลข 1 สายกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ห่างจากตัวเมือง 18 กิโลเมตร เป็นเมืองเก่าสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยสิริกษัตริย์เชียงราย ซึ่งได้หนีข้าศึกจากเชียงราย ลงมาสร้างเมืองนี้ขึ้น เมื่อ พ.ศ . 1542 ปัจจุบันโบราณสถานต่างๆ ทรุดโทรมลงมาก เหลือเพียงซากเจดีย์
และเชิงเทินเท่านั้น

ตลาดกล้วยไข่ ตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 สายกำแพงเพชร-นครสวรรค์ ตรงกิโลเมตรที่ 343 มีเพิงขายกล้วยไข่ทั้งดิบและสุก กล้วยฉาบ และสินค้าพื้นเมืองอื่น ๆ ตั้งอยู่เรียงรายเป็นระยะทางยาวประมาณ 2๐๐ เมตร

ไม่มีความคิดเห็น: